บทวิเคราะห์ Windows 8.1 จังหวะใหม่ของไมโครซอฟท์

BoOnreAm 19:27
Windows 8
ผมเขียนบทวิเคราะห์เรื่อง Google I/O และ Apple iOS 7 มาแล้ว คงต้องเขียนเรื่อง Windows 8.1 บ้างเดี๋ยวไมโครซอฟท์จะน้อยใจนะครับ :P
ข่าวใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในรอบปีนี้คงหนีไม่พ้น Windows 8.1 ซึ่งถือเป็นภาคต่อของ Windows 8 ที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก (ทั้งแง่บวกและแง่ลบ) ในปีที่แล้ว
ผมมองว่า Windows 8.1 ไม่ได้เป็นเพียง "ผลิตภัณฑ์" เดี่ยวๆ เพียงหนึ่งตัว แต่มันสะท้อน (และตอกย้ำซ้ำอีกครั้ง) ให้เห็นถึงทิศทางใหม่ที่ไมโครซอฟท์กำลังมุ่งไปให้ชัดเจนมากขึ้น

ย้อนดู Windows 8

พูดถึง Windows 8 ย่อมมีทั้งคนรักและเกลียด (ฝ่ายหลังอาจมีมากกว่า แต่นั่นก็แล้วแต่จะนับ) ถ้าให้มองย้อนกลับไปจากตอนนี้ ผมถือว่า Windows 8 เป็น "ระบบปฏิบัติการตัวใหม่" อีกตัวหนึ่ง ไม่ใช่ "วินโดวส์เวอร์ชันใหม่" ที่นับเลขต่อจาก Windows 7
ที่ต้องบอกว่า Windows 8 เป็นระบบปฏิบัติการตัวใหม่ ก็เพราะแนวทาง (paradigm) ของมันเปลี่ยนจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง จากระบบปฏิบัติการสำหรับคีย์บอร์ดและเมาส์ ก็กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับจอสัมผัสและแท็บเล็ตแทน แถมในแง่ของเทคโนโลยีข้างใต้ก็ยังเปลี่ยนจาก Win32 API มาเป็น WinRT API ด้วยเช่นกัน
ถ้าจะเทียบให้คล้ายที่สุด ผมว่ามันเหมือนกับตอนแอปเปิลเปลี่ยนจาก Mac OS 9 มาเป็น Mac OS X (หวังว่าสาวกรุ่นใหม่คงตามไปหาข้อมูลอ่านกัน) นั่นคือใช้ชื่อแบรนด์เดิม แต่เปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่หมด (Cocoa เทียบได้กับ WinRT) และมีโหมดการทำงานแบบเดิมรองรับในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้วย (Carbon/Classic เหมือนกับ Windows Desktop)
Windows 8 คือไมโครซอฟท์ยุคใหม่ที่ก้าวข้าม "โลกยุคพีซี" ที่ครอบงำด้วยซีพียู x86 (อาณาจักร Wintel) การสั่งงานด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด และ form factor ค่อนข้างตายตัว (พีซีตั้งโต๊ะ/แท็บเล็ต) มายัง "โลกยุคหลังพีซี" ถ้ายึดตามคำเรียกของสตีฟ จ็อบส์ มีสถาปัตยกรรมซีพียูแบบใหม่ๆ (x86/ARM) ใช้นิ้วสัมผัสและการสั่งงานด้วยเสียง รวมถึง form factor แบบพิสดารที่เราเห็นในแท็บเล็ตลูกผสมสารพัดชนิดที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้
ในแง่ยุทธศาสตร์โดยรวมแล้ว ผมว่าไมโครซอฟท์ทำถูกต้องเลยนะครับ เพียงแต่ในแง่ปฏิบัติแล้วไมโครซอฟท์ทำพลาดหลายอย่าง เช่น
  • ทำ Windows 8 โหมด Metro ยังไม่สมบูรณ์ดี (ที่ชัดๆ เลยคือ PC Settings มีความสามารถไม่เท่า Control Panel) อันนี้ยกประโยชน์ให้ส่วนหนึ่งว่าทำไม่ทัน
  • มาเร็วไปหน่อย พีซีปี 2012 ยังไม่มีจอสัมผัสเยอะเท่ากับพีซีปี 2013 (แต่ก็มองในมุมกลับได้ว่า พีซีจอสัมผัสเริ่มเยอะขึ้นเพราะมี Windows 8 รองรับแล้ว)
  • "หักดิบ" การทำงานแบบเดิมๆ ของผู้ใช้มากเกินไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง Start Menu, Charm และ hot corner เลยเกิดการต่อต้านเยอะ พอคนไม่พอใจเสียแล้ว อธิบายเหตุผลอะไรเขาก็ไม่ฟังหรอก
ผลก็คือ Windows 8 กลายเป็นวินโดวส์รุ่นที่โดนเสียงบ่นเยอะ และ "ใครๆ" ก็บอกว่ามันห่วยนั่นเอง

Windows 8.1

พอมาถึง Windows 8.1 ไมโครซอฟท์ไม่ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์เลยสักนิด ยังยึดตามยุทธศาสตร์เดิมของ Windows 8 ทุกประการ แต่ว่า
  • ปรับปรุงโหมด Metro ให้สมบูรณ์ขึ้นมาก ทั้งเรื่อง Search, Settings, split screen, default apps
  • ตลาดพีซีปี 2013 เริ่มมีพีซีที่ดึงพลังของระบบปฏิบัติการจอสัมผัสออกมาได้เยอะขึ้นแล้ว เราเห็นอุปกรณ์มากมายทั้ง Surface ของไมโครซอฟท์เอง, โน้ตบุ๊กไฮบริด, แท็บเล็ตจอใหญ่-เล็ก ออกสู่ตลาดกันมากขึ้น ราคาก็เริ่มดิ่งลงมาจากปีที่แล้ว ในแง่การประหยัดไฟก็ได้บารมีของ Haswell ช่วยแก้ปัญหาไปบางส่วน
  • ไมโครซอฟท์ยอมถอยในเรื่อง UI บางจุด (เช่น เอาปุ่ม Start กลับมา) และผู้ใช้เองก็เริ่มคุ้นเคยหลังโดนหักดิบและก่นด่ามาเกือบปี (ฮา)
โดยรวมแล้ว Windows 8.1 ยังคงทิศทางเดิม แต่มีสมบูรณ์มากขึ้น ตลาดพีซีโดยรวมเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อบวกกับว่ามันเป็นการอัพเกรดฟรีก็คงไม่มีใครที่ใช้ Windows 8 อยู่แล้วปฏิเสธ
คำถามหลักจึงต้องย้อนกลับไปว่ายุทธศาสตร์ใหญ่ของไมโครซอฟท์สำหรับ "โลกยุคหลังพีซี" นั้นถูกต้องแค่ไหน
time will tell เวลาจะเป็นคำตอบ
ในเบื้องต้นแล้วความสำเร็จของ Android/iOS คงเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าจอสัมผัสเป็นสิ่งจำเป็น แต่บริบทของไมโครซอฟท์ที่มาจากระบบปฏิบัติการแบบ point & click ก็ต้องนำเสนอคำตอบให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์แบบเก่าด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า Windows 8 ก็ทำออกมาได้ดีพอสมควรนะครับ การสร้างแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ไม่มีใครสมบูรณ์แต่แรก อย่างเก่งก็แค่ทำแพลตฟอร์มที่ดีในระดับหนึ่ง แล้วค่อยๆ พัฒนาต่อไป
ดังนั้นเราต้องมอง Windows 8.x เป็น "กระบวนการ" ระยะยาวที่กินเวลาหลายปี (อาจจะ 3-4 ปีกว่าจะเริ่มสมบูรณ์) ซึ่งกรณีของแอปเปิลเองกว่าจะทำ Mac OS X เข้าที่ก็ประมาณรุ่นที่ห้า (10.4 Tiger) ถ้านับระยะเวลาจาก 10.0 ก็ใช้เวลาถึง x ปี เทียบกันแล้วไมโครซอฟท์ใช้เวลาน้อยกว่ากันมาก (แต่สภาพการแข่งขันก็ต่างกันมากเช่นกัน)

จังหวะใหม่ของไมโครซอฟท์

ประเด็นหนึ่งของ Windows 8.1 ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้ตัวผลิตภัณฑ์เองคือ "รอบการออกรุ่น" ของไมโครซอฟท์ครับ
ถ้าเราย้อนดูวินโดวส์เวอร์ชันเก่าๆ หน่อย จะเห็นว่า
  • Windows XP มาเป็น Windows Vista ใช้เวลา 5 ปี (อันนี้มีปัญหาภายในจนเลื่อนเอง)
  • Windows Vista มาเป็น Windows 7 ใช้เวลา 3 ปี
  • Windows 7 มาเป็น Windows 8 ใช้เวลา 3 ปี
ถ้าไม่นับกรณีของ XP มา Vista จะเห็นว่ารอบการออกรุ่นเฉลี่ยของไมโครซอฟท์อยู่ที่ 3 ปี แต่ว่าในรอบของ 8 มาเป็น 8.1 ใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น
ผมคาดว่าไมโครซอฟท์จะออก Windows 8.2 ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้รอบการออกรุ่นของไมโครซอฟท์ลดลงมาเหลือ 1 ปี (ซึ่งทำมาก่อนแล้วกับ Windows Phone)
นี่คือการปรับตัวของไมโครซอฟท์ให้เข้ากับ "จังหวะใหม่" ในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ยุคที่ซอฟต์แวร์อัพเดตได้ในทันที ต่างไปจากยุคของซอฟต์แวร์กล่องที่ไมโครซอฟท์สร้างขึ้นมาในอดีต
รอบการออกรุ่นผลิตภัณฑ์ใหญ่ระดับระบบปฏิบัติการที่เหมาะสมจึงน่าจะอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วไมโครซอฟท์ไม่ใช่รายแรกที่ทำแบบนี้ แอปเปิลเริ่มก่อนใน iOS แล้วปรับ OS X ให้ใช้ระบบเดียวกัน ส่วนกูเกิลนั้นเอาเข้าจริงแล้วอัพเดตระบบปฏิบัติการมากกว่าปีละครั้งด้วยซ้ำ (Android ในช่วงแรกๆ บางปีออกสามรุ่นรวด) หรือกรณีของ Chrome OS คืออัพเดตทุก 6 สัปดาห์
"จังหวะใหม่" ของไมโครซอฟท์ที่ว่านี้ไม่ได้มีเฉพาะวินโดวส์เท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ใหญ่ๆ ของไมโครซอฟท์แทบทุกตัวก็มีจังหวะการอัพเดตใหญ่ที่ลดลงจากเดิมมาก
  • Windows Phone ออกรุ่นใหม่ปีละครั้ง (ส่วนจะเป็น major/minor release อีกเรื่องหนึ่ง)
  • Office 2013 ออกต้นปีนี้ และจะมี Office "Gemini" ในปี 2014
  • Visual Studio 2012 ตามด้วย Visual Studio 2013
  • Windows Server 2012 ออกปีที่แล้ว ปีนี้มี Windows Server 2012 R2
เอาเข้าจริงแล้วไมโครซอฟท์ก็อยากปรับรอบการออกรุ่นให้เยอะกว่าปีละครั้งด้วยซ้ำ แต่ก็ยังติดขัดข้อจำกัดเรื่องธรรมเนียมหรือความคาดหวังของการใช้ซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ ถ้ายังจำกันได้ บริษัทก็เคยประกาศไว้ว่าในฝั่งของซอฟต์แวร์องค์กร (ที่มีทั้งเวอร์ชันติดตั้งบนเครื่องจริง on premise และเวอร์ชันกลุ่มเมฆ on cloud) ไมโครซอฟท์จะทยอยออกฟีเจอร์ใหม่ให้กับเวอร์ชันบน Azure ก่อน แล้วค่อยรวบมาอัพเดตให้เวอร์ชัน on premise เป็นระยะๆ ทีหลัง
การทำแบบนี้กับผลิตภัณฑ์ทั้งบริษัทไม่ง่ายเลยนะครับ มันต้องผ่านกระบวนการ "คิดใหม่ทำใหม่" เป็นการภายในครั้งใหญ่ ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทใหญ่มีพนักงานหลายหมื่น มีธรรมเนียมปฏิบัติ ค่านิยม และการยึดติดกับความสำเร็จเก่า การเปลี่ยนผ่านแบบนี้ไม่ง่ายเลย แต่ตอนนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาเริ่มแสดงให้เห็นว่าไมโครซอฟท์เริ่มปรับตัวให้เข้ากับจังหวะใหม่ของอินเทอร์เน็ตได้แล้ว
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็น "ไมโครซอฟท์ 2.0" ที่เปลี่ยนไปจากเดิม
  • รอบการออกซอฟต์แวร์เร็วขึ้น เปลี่ยนวิธีคิดจากซอฟต์แวร์กล่อง (สินค้า) มาเป็นบริการผ่านอินเทอร์เน็ต
  • เปลี่ยนเทคโนโลยีฐานจาก Win32 มาเป็น WinRT (หรือของแนวๆ เดียวกัน) เน้นการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแทนการทำงานแบบ standalone ไม่ยุ่งกับใคร
  • เปลี่ยนหน้าตาภายนอกจาก "หน้าต่าง" มาเป็น "กระเบื้อง" (tile) ทิศทางการออกแบบแนว Metro กับทุกผลิตภัณฑ์ไม่เว้นแม้แต่ Xbox
คำถามที่น่าสนใจค้นหาคำตอบต่อไปก็คือ เมื่อไมโครซอฟท์ปรับตัวแล้ว ลูกค้าของไมโครซอฟท์ล่ะปรับตัวตามทันอย่างที่ไมโครซอฟท์คาดหวังหรือเปล่า?

แชร์บทความนี้ให้เพื่อนรู้หน่อยดีไหม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Previous
Next Post »

คิดยังไงกันบ้างครับ : แสดงความเห็นให้เพื่อน ๆ รับรู้หน่อย EmoticonEmoticon